หน้าหลัก > ข่าว > การผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ (SDG 12) > มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รณรงค์การคัดแยกขยะให้ถูกวิธี
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รณรงค์การคัดแยกขยะให้ถูกวิธี

admin center
2023-06-26 14:18:18

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รณรงค์การคัดแยกขยะให้ถูกวิธี


การคัดแยกขยะ เป็นวิธีการหนึ่งในกระบวนการลดปริมาณขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นตัวการของปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อมใน สำหรับประเภทของภาชนะรองรับขยะที่ทำการคัดแยกนั้น โดยทั่วไปมักแบ่งออกเป็น 4 ประเภท เพื่อให้สามารถรองรับขยะได้ครบทุกชนิด คือ

- ถังสีเขียว ใช้สำหรับรองรับขยะย่อยสลาย (Compostable waste) เช่น เศษอาหาร เศษพืชผัก เปลือกผลไม้ ใบไม้ เป็นต้น ขยะเหล่านี้เป็นอินทรียวัตถุที่มีความชื้นสูงและย่อยสลายได้ดีตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักได้

- ถังสีเหลือง ใช้สำหรับรองรับขยะรีไซเคิล (Recyclable waste) เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ อะลูมิเนียม พลาสติก เป็นต้น เมื่อรวบรวมขยะเหล่านี้แล้วสามารถนำไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปขยะต่อไป

- ถังสีแดงใช้สำหรับรองรับขยะอันตราย (Hazardous waste) เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง กระป๋องน้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ เป็นต้น ขยะเหล่านี้ต้องคัดแยกไว้ต่างหากเพื่อนำไปกำจัดตามวิธีที่เหมาะสมต่อไป

- ถังสีน้ำเงิน ใช้สำหรับรองรับขยะทั่วไป (General waste) เช่น พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร โฟมเปื้อนอาหาร เป็นต้น

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้ดำเนินการคัดแยกขยะตามข้อกำหนดดังนี้

1. คัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ หรือขยะรีไซเคิล ออกจากขยะย่อยสลาย ขยะอันตราย และขยะทั่วไป

2. เก็บกักขยะที่ทำการคัดแยกแล้วในถุง หรือถังรองรับขยะแบบแยกประเภทที่หน่วยราชการกำหนด

3. เก็บกักขยะที่ทำการคัดแยกแล้วในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่กีดขวางทางเดิน อยู่ห่างจากสถานที่ประกอบอาหาร ที่รับประทานอาหาร และแหล่งน้ำดื่ม

4. ให้เก็บกักขยะอันตราย หรือภาชนะบรรจุสารที่ไม่ทราบแน่ชัด เป็นสัดส่วนแยกต่างหากจากขยะอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสารพิษ หรือการระเบิด แล้วนำไปรวบรวมไว้ในภาชนะรองรับขยะอันตรายของชุมชน

5. ห้ามเก็บกักขยะอันตรายไว้รวมกัน โดยให้แยกเก็บเป็นประเภทๆ หากเป็นของเหลวให้ใส่ถังหรือภาชนะบรรจุที่มิดชิดและไม่รั่วไหล หากเป็นของแข็งหรือกึ่งของแข็งให้เก็บใส่ถังหรือภาชนะที่แข็งแรง

6. หลีกเลี่ยงการเก็บกักขยะที่ทำการคัดแยกแล้ว และมีคุณสมบัติที่เหมาะแก่การเพาะพันธุ์ของพาหะนำโรค หรืออาจเกิดการรั่วไหลของสารพิษไว้เป็นเวลานาน

7. หากมีการใช้น้ำทำความสะอาดวัสดุคัดแยกแล้วหรือวัสดุเหลือใช้ที่มีไขมันหรือตะกอนน้ำมันปนเปื้อน จะต้องระบายน้ำเสียนั้นผ่านตะแกรง และบ่อดักไขมันก่อนระบายสู่ท่อน้ำสาธารณะ

8. ห้ามเผา หลอม สกัดหรือดำเนินกิจกรรมอื่นใด เพื่อการคัดแยก การสกัดโลหะมีค่า หรือการทำลายขยะในบริเวณที่พักอาศัย หรือพื้นที่ที่ไม่มีระบบป้องกันและควบคุมของเสียที่จะเกิดขึ้น